กรมธรรม์ประกันชีวิต ดีกว่าการออมเงินในรูปแบบการฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์หรือบัญชีฝากประจำจริงหรือเปล่า

 

moneypig

เชื่อว่าหลายคนคงจะเคยพบเจอหรือถูกยื่นข้อเสนอส่วนใหญ่ที่เข้าไปทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารพาณิชย์ นั่นก็คือ การเสนอแผนการออมเงินในรูปแบบใหม่ที่แฝงไปด้วยเงื่อนไขที่เมื่อศึกษาในรายละเอียดอย่างครบถ้วนแล้วจะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนั้นมันก็เป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตอย่างหนึ่งนี่เอง

แล้วทำไมตัวแทนขายเขาถึงนำเสนอว่ามันเป็นรูปแบบการออมเงินอีกประเภทหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนเทียบเท่าหรือดีกว่าการออมเงินในรูปแบบการฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์หรือบัญชีฝากประจำมันเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า มันดีกว่าอย่างไร

ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรนั้น ก่อนอื่นเราต้องรู้วัตถุประสงค์ของตัวเราเองก่อนว่าต้องการอะไร ศึกษาในรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ว่ามีเงื่อนไขการฝากและถอนเงินอย่างไร อย่างเช่น ถ้าเป็นในรูปแบบของการฝากเงินกับทางธนาคารจะสามารถถอนได้ทันทีตามความประสงค์เมื่อใดก็ได้ แต่ถ้าเป็นการออมเงินพร้อมกรมธรรม์ประกันชีวิตนั้น หากได้เอกสารสิทธิเป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตไม่ใช่สมุดบัญชีเงินฝากแบบนี้ จะถอนเงินตามจำนวนที่ฝากไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะการประกันชีวิตเป็นการออมเงินแบบบังคับออม คือ หาก ยังไม่ครบกำหนดสัญญาประกันชีวิต จะไม่ได้รับเงินเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายไปแล้วคืน จะถอนเงินแบบฝากธนาคารไม่ได้ ต้องรอจนกว่าจะครบอายุสัญญา เช่น 10 ปี หรือ 15 ปี เป็นต้น

ลำดับต่อมาการฝากเงินกับธนาคารไม่ว่าจะเป็นฝากประจำหรือฝากแบบไหนก็ตาม จำนวน เงินต้นยังคงไม่สูญหายไปไหนแม้จะหยุดฝากและได้ผลตอบแทนตามอัตราดอกเบี้ยที่ฝาก แต่ถ้าเป็นการประกันชีวิตจะต้องฝากต่อเนื่องทุกปีตามสัญญาประกันชีวิตจนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลาที่ต้องชำระเบี้ยประกันภัยไปแล้วก็ไม่อาจที่จะเรียกหรือถอนคืนได้

ดังนั้น จึงจะเห็นได้ว่า การทำประกันชีวิตนั้นก็จัดว่าเป็นการออมเงินอีกรูปแบบหนึ่งแต่จะมีเงื่อนไขแตกต่างกับการฝากเงินกับทางธนาคารซึ่งข้อดีของรูปแบบประกันชีวิต คือ การที่ชำระเบี้ยประกันชีวิตไปแล้วแม้เพียงเริ่มสัญญาจะมีความคุ้มครองตามจำนวนเงินที่เอาประกันภัยไว้ทันที หากเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรจะได้รับจำนวนเงินตามความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัย หรือเมื่อครบกำหนดสัญญาจะได้รับเงินตามทุนประกันภัยที่กำหนดอาจมีเงินปันผล มีการซื้อความคุ้มครองประกันสุขภาพ

ทั้งนี้จะเป็นการบังคับให้ออมเงินซึ่งไม่อาจจะถอนได้หรือจะได้รับเงินคืนจนกว่าจะครบสัญญา เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่อาจจะออมเงินได้ ต้องมีการบังคับออม แต่คนที่จะทำประกันชีวิตต้องถามตัวเองก่อนว่า การซื้อประกันชีวิตจำนวนเงินคุ้มครองเท่าใด จึงจะสามารถส่งชำระเบี้ยประกันภัยได้ตลอดอายุสัญญา 10 ปี หรือ 20 ปี หากส่งไม่ได้ผลตอบแทนย่อมไม่เป็นไปตามสัญญาประกันภัยอย่างแน่นอน ซึ่งมีหลายคนเข้าใจผิดในเรื่องนี้และต้องสูญเงินต้นของตัวเองไปกับระบบการออมเงินในรูปแบบนี้เป็นจำนวนมาก อาจจะเป็นเพราะไม่รู้ถึงเงื่อนไขแห่งสัญญาหรือถูกตัวแทนของธนาคารชักจูงให้ไปทำเพราะความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นการฝากเงินแบบพิเศษ

ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยได้ประกาศแผนพัฒนาธุรกิจประกันภัยฉบับที่ 2 โดยในแผนมีการวางนโยบายผลักดันให้กลุ่มเกษตรกรหรือผู้มีรายได้น้อยเข้าสู่ระบบการออมผ่านระบบประกันชีวิต ที่เรียกว่าไมโครอินชัวรันซ์ มากยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องประกันและการออมเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย การวางแผนออมเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญแต่รูปแบบการออมเงินก็สำคัญไม่แพ้กว่ากัน จึงควรต้องประเมินศักยภาพของตัวเองและเทียบเคียงกับข้อดีและข้อเสียของรูปแบบการออมเงินแต่ละประเภท มิฉะนั้นจากการออมเงินจะเป็นถูกอมเงินโดยไม่รู้ตัว

นางสาวนภภัสสร สอนคม

สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
https://www.facebook.com/สำนักกฎหมาย-สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
ที่มา : dailynews.co.th/

เกร็ดความรู้ดีๆ จาก  ประกันภัยรถยนต์ โปรโมชั่น ประกันรถยนต์ ดีๆ

เบื่อซ่อม อยากขาย ไว้ใจ  รถยนต์มือสอง ตลาดรถ รับฝากขายรถมือสอง เปรียบเทียบรถยนต์ ฟรี!!