ข้อควรระวังของการทำประกันชีวิตโดยไม่ตรวจสุขภาพ

ประชาสัมพันธ์โดย ที่ปรึกษาประกันภัยรถยนต์ แหล่งรวมโปรโมชั่นประกันรถยนต์

Q4Car ตลาดรถ แหล่งรถยนต์มือสอง รับฝากขาย รถมือสอง ฟรี

92002
 
 
    ผู้คนส่วนใหญ่ต่างมีความหวังจะมีชีวิตยืนยาวหรืออย่างน้อยก็ตามอายุขัย เพื่อได้ทำในสิ่งที่อยากทำหรืออยู่กับผู้ซึ่งเป็นที่รัก แต่สิ่งที่แน่นอนก็คือความไม่แน่นอนของชีวิต  คงไม่มีใครรู้ล่วงหน้าได้ว่า ตนจะมีชีวิตอยู่ถึงเมื่อใด และจะมีเหตุร้ายหรือโรคร้ายใดๆมาตัดทอนให้ชีวิตต้องสิ้นสุดลงก่อนเวลาอันควร
     การหาหลักประกันให้แก่คนที่เรารักและเป็นห่วงซึ่งยังอยู่ข้างหลังให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ จึงกลายเป็นที่นิยมและกลายเป็นธุรกิจที่เรียกว่า ธุรกิจประกันภัยซึ่งมีทั้งการประกันวินาศภัยหรืออุบัติเหตุ และการประกันชีวิต
     รูปแบบการรับประกันภัย ทั้งประกันอุบัติเหตุและประกันชีวิต ปัจจุบันมีความหลากหลายมากขึ้น ครอบคลุมทุกช่วงชีวิตผู้ทำประกันตั้งแต่วัยเด็ก วัยทำงาน จนถึงวัยชรา  ซึ่งแม้รูปแบบหลากหลาย แต่หลักการสำคัญที่มีอยู่ตลอดมาของการทำประกันภัย โดยเฉพาะการประกันชีวิต ก็คือ การตรวจสุขภาพ และการเปิดเผยหรือแถลงความจริงเกี่ยวกับสุขภาพของผู้เอาประกันต่อผู้รับประกันภัย เพราะผู้รับประกันจะนำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพของผู้ที่ต้องการทำประกันไปพิจารณาเพื่อตัดสินใจจะรับประกันหรือไม่  หรือถ้ารับประกันจะมีเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติมหรือไม่ อย่างไร การที่ผู้ทำประกันละเว้นไม่เปิดเผยความจริง หรือแถลงเกี่ยวกับสุขภาพตนเองเป็นเท็จ อาจทำให้สัญญาประกันภัยที่ทำ ไม่มีผลผูกพันผู้รับประกัน และเป็นเหตุที่จะไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนได้ ตามมาตรา 865 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
     ปัจจุบันมีบริษัทประกันบางรายที่รับประกันชีวิตโดยมุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้สูงอายุ (ระหว่างอายุ 55-70 ปี) โดยการนำเสนอโฆษณาซึ่งใช้ดาราและพิธีกรรุ่นใหญ่ที่เริ่มเข้าสู่วัยผู้สูงอายุเป็นพรีเซ็นเตอร์ เพื่อที่จะสื่อไปถึงกลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุพร้อมกับเสนอจุดขายที่สำคัญคือ การไม่ต้องตรวจสุขภาพ
     ข้อเสนอหรือจุดขายที่บริษัทประกันภัยดังกล่าวได้นำเสนอนั้น หากมองเพียงผิวเผินอาจจะทำให้ผู้ทำประกันเข้าใจผิดว่า บริษัทประกันไม่ถือเรื่องสุขภาพเป็นสาระสำคัญในการทำสัญญาประกัน ดังนั้น แม้ผู้ทำประกันจะรู้ว่าตนเองป่วยเป็นโรคสำคัญ เช่น โรคหัวใจ  มะเร็ง จึงไม่ได้แจ้งให้บริษัทผู้รับประกันทราบ  เนื่องจากไม่ต้องตรวจสุขภาพมาแต่ต้น และเมื่อกรอกแบบสอบถามที่ให้แถลงว่า ผู้ทำประกันมีสุขภาพดีหรือไม่ ก็จะตอบคำถามไปว่า ตนเองมีสุขภาพดี จนทำให้มีการรับประกันชีวิตในที่สุด
     ความเข้าใจของผู้ทำประกันดังกล่าว และการแถลงเกี่ยวกับสุขภาพของตนไปว่า  มีสุขภาพดีทั้งที่ความจริงอาจป่วยเป็นโรคสำคัญ อันเนื่องจากการไม่ได้ตรวจสุขภาพก่อนทำสัญญาประกันชีวิตนั้นถือเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้ทำประกันอย่างมาก เพราะเมื่อถึงเวลาที่ผู้ทำประกันหรือผู้รับประโยชน์จะเรียกร้องความคุ้มครองหรือค่าสินไหมทดแทน บริษัทผู้รับประกันอาจปฏิเสธที่จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกฎหมาย โดยอ้างว่าผู้ทำประกันทำสัญญาประกันชีวิต ละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริง หรือรู้อยู่แล้วแถลงข้อความเกี่ยวกับสุขภาพเป็นเท็จ
     ดังนั้น แม้ผู้เอาประกันสนใจและต้องการทำประกันชีวิตแบบไม่ต้องตรวจสุขภาพ ตามที่บริษัทโฆษณาไว้  แต่ถ้าทราบเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของตนเอง ก็ต้องแจ้งหรือแถลงความจริงต่อบริษัทประกันว่า ตนเป็นโรคอะไรอยู่ก่อนทำประกัน เพื่อให้บริษัทประกันพิจารณาได้ว่าจะรับประกันหรือไม่  เนื่องจากปัจจุบัน ข้อมูลของผู้ทำประกันที่บริษัทประกันต่างๆปฏิเสธการรับประกัน ตลอดจนข้อมูลสุขภาพและประวัติการรักษาที่โรงพยาบาลหรือคลีนิกก่อนทำสัญญาประกัน เป็นข้อมูลที่รับรู้กันได้หมด บริษัทประกันต่างๆสามารถตรวจสอบและนำหลักฐานเกี่ยวกับการรักษามาใช้ยันกับผู้ทำประกันได้ ผู้ทำประกันจึงควรเป็นฝ่ายที่เปิดเผยความจริงเกี่ยวกับสุขภาพ แถลงต่อบริษัทประกันเสียก่อน เพื่อให้บริษัทประกันได้เป็นผู้ตัดสินใจว่าจะรับประกันหรือไม่
     เมื่อหันมามองด้านบริษัทประกัน แม้การใช้กลยุทธ์ไม่ต้องตรวจสุขภาพมาาเป็นจุดขาย จะไม่ถือเป็นสิ่งที่ผิด แต่บริษัทประกันก็ควรต้องประชาสัมพันธ์หรือบอกกับทางผู้ที่ต้องการทำประกันเกี่ยวกับการเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับสุขภาพ ตลอดจนผลที่จะเกิดขึ้นของการไม่เปิดเผยความจริงเกี่ยวกับสุขภาพด้วย  เพื่อให้ผู้ที่สนใจจะทำประกันมีความเข้าใจที่ถูกต้อง มิใช่มุ่งใช้กลยุทธ์ด้านโฆษณาเพียงเพื่อดึงลูกค้าให้มาทำประกันกับตนให้มากที่สุดเท่านั้น
     ในส่วนหน่วยงานขฐที่ดูแลเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจประกันภัยได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ก็ควรเข้ามามีส่วนให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้แก่ประชาชนให้มากขึ้น  เพื่อให้ผู้ประสงค์จะทำประกันชีวิตเข้าใจว่า แม้เป็นการทำประกันชีวิตโดยไม่ต้องตรวจสุขภาพ  แต่ก็ต้องแจ้งหรือเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับสุขภาพต่อบริษัทประกัน  ถ้ารู้ว่าตนเองป่วยเป็นโรคสำคัญอยู่ก่อน เพื่อที่ผู้ทำประกันจะได้ไม่หลงจ่ายเบี้ยประกันไปจำนวนมากแล้ว แต่เมื่อถึงคราวที่จะขอรับความคุ้มครองกลับไม่สามารถเรียกร้องความคุ้มครองหรือค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันได้
     นอกจากการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยภายในประเทศไทยเองแล้ว อนาคตอันใกล้ในปี ค.ศ. 2015 หรือพ.ศ. 2558 จะมีการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ธุรกิจประกันภัย ซึ่งเป็นภาคบริการได้ถูกกำหนดให้ต้องเปิดเสรีด้วย ย่อมส่งผลให้บริษัทประกันภัยต่างชาติเข้ามาแข่งขันให้บริการในประเทศไทยมากขึ้น กลยุทธ์ด้านการตลาดและการโฆษณาที่กล่าวมาข้างต้นและในรูปแบบอื่นๆจะถูกนำมาใช้เพื่อดึงลูกค้า คปภ. จึงยิ่งต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้นด้วย การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการทำประกันรูปแบบต่างๆให้กับประชาชนเพื่อเป็นการคุ้มครองและป้องกันไม่ให้ผู้ใช้บริการคนไทยต้องเสียเปรียบจากการให้บริการของบริษัทประกันต่างชาติได้

 

ผู้เขียน : รุจิระ  บุนนาค